19.11.10

P&F Coffee ได้เหรียญทองแข่งขัน Espresso Blend ที่ Italy












P&F Coffee มีความยินดีเรียนให้ทราบว่า กาแฟคั่วของเราคือ P&F Splendid Blend และ P
&F Espresso Blend สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันกาแฟเอสเปรสโซเบลนด์ หมวด non Italian bean (กาแฟคั่วจากชาติที่ไม่ใช่อิตาลี) ในรายการ International Coffee Taster 2010 ซึ่งจัดโดยโดยสถาบันชิมทดสอบกาแฟอิตาเลี่ยน ประเทศอิตาลี ที่ปีนี้นับเป็นการจัดขึ้นครั้งที่สามแล้ว และถือเป็นบริษัทกาแฟคั่วของไทยแห่งแรกที่สามารถคว้ารางวัลนี้ได้

รางวัลเหรียญทอง 2 เหรียญในครั้งนี้ ถือเป็นรางวัลสำหรับการทำงานกาแฟอย่างทุ่มเทตลอดสิบปีที่ผ่านมาของ P&F Coffee และถือเป็นความภูมิใจที่เราไม่
สามารถเก็บไว้เองโดยลำพังได้ จึงอยากมอบความภูมิใจนี้แทนคำขอบคุณให้กับลูกค้าของเราทุกคน ที่อดทนให้โอกาสและมีส่วนร่วมเป็นกำลังใจในการพัฒนาคุณภาพกาแฟของเราตลอดมา

ความมุ่งมั่นของ P&F Coffee จากนี้ไป คือความพยายามในการรักษาคุณค่าของรางวัลนี้ไว้ด้วยการพัฒนาการผลิตกาแฟคั่วของเราต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นให้กับลูกค้าทุกๆ คนของเรา


ศิรฎา เตชะการุณ
P&F Coffee Limited

19 พฤศจิกายน 2553

12.9.10

Mosaic Generation 2


เครื่องชงกาแฟ Reneka Mosaic Generation 2 พร้อมออกสู่ตลาด 3 รุ่นในเดือนตุลาคม 2553 นี้ ได้แก่
mosaic 1 หัวชง
mosaic Bistro 2 หัวชง
mosaic Barista HP 2 หัวชง หม้อต้มใหญ่พิเศษ

ดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยวของ Mosaic ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วโลกในปีที่ผ่านมา และจากการออกตลาดมาสักระยะหนึ่ง Reneka ได้มีการปรับปรุงคุณภาพของ Mosaic ให้ดีขึ้นอีกด้วยการระดมสมองจากทีมวิศวกรในการปรับปรุงระบบไฮโดรลิกภายในทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความทนทานในการใช้งาน

ส่วนภายนอก Mosaic G2 เลือกใช้กรอบสีดำ แทนสีเทาเข้มเดิม เพื่อให้ตัดกับฝาข้างทั้งสี่ด้าน ทำให้สวยกว่าเดิม มีสีให้เลือก 2 สีคือ แดงเบอร์กันดี และสีขาวมุข ( เฉพาะรุ่น Barista HP ฝาข้างเป็นสแตนเลสขัดเงาเท่านั้น)

ตอกย้ำความมั่นใจในประสิทธิภาพและความทนทานที่สูงขึ้น ด้วยระยะเวลารับประกันอะไหล่ 2 ปีเต็ม


สนใจสั่งจองและทดลองใช้เครื่องได้ที่ P&F Coffee Limited, ถนนพญาไท , กรุงเทพฯ โทร. 02245 7999 , 08 6789 2699 หรือ www.pnfcoffee.com

3.2.10

Black Gold





วันก่อนได้ดู DVD เรื่อง Black Gold เป็นรอบที่สอง (ต้องกราบขอบคุณพี่วิชา พรหมยงค์ ผู้บริหารบริษัท กาแฟดอยช้าง เฟรชโรสเต็ด คอฟฟี่ จำกัด ที่กรุณาส่งแผ่นมาให้)

เผื่อบางคนยังไม่ได้ดู ขอเขียนคร่าวๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของชาวเอธิโอเปียที่ปลูกกาแฟดำรงชีพมารุ่นต่อรุ่น ผลตอบแทนที่ได้รับไม่พอเยียวยาชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี จึงมีผู้กล้า นาย Tadesse Meskela ผู้จัดการกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟในย่าน Kilenso Mokonisa อยู่ทางตอนใต้ของเอธิโอเปีย ผลผลิตที่เรารู้จักดีคือกาแฟ Sidamo

นายคนนี้ถือเป็นตัวแทนจากผู้ปลูกชาวเอธิโอเปียกว่า 74,000 คนที่ฝากความหวังไว้เพียงขอราคากาแฟที่พ่อค้าจะมารับซื้อสูงขึ้นอีกนิดหน่อย พวกเขาก็จะได้มีเงินสร้างโรงเรียน ซื้อรองเท้าใส่เหมือนคนอื่นบ้าง แต่ละฉากที่ดูก็จะสะเทือนใจในแง่แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะการที่สวมหมวกหลายใบ ทำให้การดูหนังเรื่องนี้ มีเหตุผลต่อสู้กันเองในใจ แต่ในส่วนลึกๆแล้วคิดเปรียบเทียบกับบ้านเราเองมากกว่า

การมองจากคนต่างกลุ่มมักจะได้มุมมองที่ต่างกัน ข้าพเจ้าเป็นทั้งคนคั่ว,คนขายกาแฟคั่ว,คนชงกาแฟ และผู้ดื่ม จะสามารถมองในมุมที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 6 ขั้นตอนจากผู้ปลูกถึงผู้ดื่มได้แก่ (ผู้ปลูก (grower) – พ่อค้าคนกลาง (trader) – คนคั่วกาแฟ (Roaster) – คนขายกาแฟคั่ว (Reseller) -- คนชงกาแฟ (Barista) – ผู้ดื่มกาแฟ (Drinker)

บางฉากเช่นฉายไปถึงผู้ปลูกกาแฟเอธิโอเปีย เทียบกันบ้านเรายังโชคดีอยู่มาก อย่างน้อยเราก็ไม่ได้ขายตามราคาตลาดโลก (ยกเว้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องอิงราคาตลาดโลกผลิตเพื่อส่งออก) นับจากอดีตหลายสิบปีเราตั้งราคาได้เอง ขายกันเอง ซื้อกันเองในประเทศ และเป็นโชคดี (หรือเปล่า) ที่เรามีกำแพงภาษีที่สูงปรี๊ดทำให้เราอยู่อย่างสบายๆ จนมาวันหนึ่ง ประเทศไทยกำลังจะประกาศ AFTA ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นอุปสรรค เป็นพายุลูกมหึมาที่จะมาทำลายชีวิตของเรา เป็นเหตุให้ หลายคนรีบวิ่งหาตลาดรับซื้อโยนราคากันวุ่นวายไปหมด



ฉากที่นาย Tadesse ต้องเดินทางไปค่อนโลกเพื่อนำตัวอย่างไปเสนอขายในงานแสดงสินค้าโดยมีโต๊ะตัวเดียวกับถุงตัวอย่างสะท้อนภาพให้กับอนาคตของไทยว่าหากยังไม่พัฒนาคุณภาพกันให้ดีทุกคนวิ่งไปซื้อกาแฟจากประเทศที่สามที่ราคากาแฟต่ำกว่าเรามากมายในขณะที่คุณภาพดีกว่า ชาวปลูกกาแฟไทยจะมีสักวันไหมที่เราต้องใช้พลังอย่างมากทำให้กาแฟของเราขายได้ อย่ารอให้ถึงวันนั้นเลย

ลองนึกย้อนไปปีที่แล้ว ใน Weblog ของพี แอนด์ เอฟ คอฟฟี่ ได้พูดถึงการพัฒนาคุณภาพไว้เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการประกาศ AFTA ที่จะมีการเก็บภาษีลดลงอย่างเหลือเชื่อ (แต่เชื่อเถอะ ภาครัฐต้องพยายามกีดกันทุกวิถีทางอย่างเต็มที่ให้เกิดข้อเสียเปรียบน้อยที่สุดอยู่แล้ว ด้วยมาตรการที่จะต้องรัดกุมสุดขีด) วิธีที่นาย Tadesse ทำถือเป็นไฟที่ทำให้เราต้องเน้นมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อที่จะมีโอกาสนำเมล็ดกาแฟดีๆ ออกสู่สายตาโลกบ้าง บางคนในภาคเหนือและภาคใต้รู้สึกท้อแท้เมื่อคิดถึงสิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรค จิตใจรู้สึกห่อเหี่ยว สิ่งที่ทำได้คือให้กำลังใจทุกคน ทุกอาชีพ ทุกกระบวนการผลิต ให้ตั้งใจทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แม้ว่าต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ในตอนหนึ่งของ Black Gold เขียนไว้ข้างกำแพงโรงเรียนว่า The root of Education is bitter but the fruit is sweet ( ของ Aristotle) เป็นกำลังใจได้เป็นอย่างดี
หลายวันก่อนผู้ปลูกกาแฟจากภาคเหนือได้แวะมาเยี่ยมสวัสดีปีใหม่พร้อมนำงานฝีมือของชาวเขาสีสันสดใสมาฝากพร้อมกับได้พูดคุยเชิงปรึกษาถึงคุณภาพการผลิตสารกาแฟของปีที่ผ่านมา ว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้างในกระบวนการผลิต และควรจะต้องปรับปรุงอย่างไร ซึ่งเราทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันว่าผลิตอย่างไรจะเกิดอะไรขึ้นกับกาแฟ องค์ความรู้ที่ได้แต่ละปีเราต้องมีค่าครูไม่น้อย เป็นเพราะเรายินดีจ่ายค่ากาแฟสารที่สูงกว่าผู้อื่นเพื่อให้ได้กาแฟที่ดีกว่า แม้ว่าบางปีอาจจะไม่ได้ดีกว่าอย่างที่คิด แต่ก็ดีที่เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นทุกปี เราตั้งใจทำกาแฟให้ดี มีหรือพ่อค้ารับซื้อจะวิ่งไปซื้อคนชาติอื่นก่อน แต่หากเราคนไทยด้วยกันทำการค้ากันอย่างไม่ซื่อสัตย์ แปลกอะไรถ้าจะติดต่อกับคนชาติอื่นเพราะความเสี่ยงเท่ากัน

วันนั้นก็ได้ให้กำลังใจผู้ปลูกกาแฟจากเชียงรายว่า ทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ ต่อตนเอง ต่อผู้ค้า ต่อลูกค้า สิ่งที่เราทำลงไปดีต้องได้ผลตอบแทนดี ถ้าทำไม่ดีก็จะเห็นผลตอบแทนกลับมาไม่ดีเหมือนกัน ถึงที่สุดแล้วเราจะยินดีกับผลของการทำดี อย่างน้อยก็ได้เห็นเสน่ห์ของการซื้อกาแฟตรงจากผู้ปลูก “Direct Trade”

เคยรู้สึกท้อแท้ต่อหน้าที่การงานเมื่อหลายปีก่อน นับเป็นบุญของข้าพเจ้าที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงกล่าวขึ้นมาวลีหนึ่งในคราวที่ท่านเสด็จทรงงานที่ใดที่หนึ่งข้าพเจ้านึกไม่ออก แต่วลีนั้นกินใจจนฝังแน่นในสามัญสำนึกตลอดมา วลีนี้เป็นพลังในการทำความดีต่อไปเรื่อยๆ ขอบอกต่อคนที่ท้อแท้ทั้งหลายด้วยประโยคเดียวกันนี้ว่า
“Keep a green branch in your heart, the singing bird will come”
ไม่อยากแปลให้เสียอรรถรส







ศิรฎา เตชะการุณ
30/01/2553